พรบ. ยาเสพติดให้โทษมีการปลดล็อกพืชกระท่อม ทำให้ปัจจุบันกระท่อมไม่เป็นพืชเสพติดอีกต่อไป วันนี้เรามาทำความรู้จักกับพืชกระท่อมกัน
กระท่อม เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 ม. ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นแต่ละช่อประกอบด้วยดอกสีเหลือง ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมากคือ พันธุ์ก้านแดง
ตามการแพทย์แผนไทย กระท่อมเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวยาในตำรับยาแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ท้องร่วง เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น แต่จะไม่นิยมใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา พบสารสำคัญที่เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อว่าสามารถลดอาการปวด ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ช่วยใช้กระปรี้กระเปร่า อย่างไรก็ตามการใช้ต่อเนื่องเป็นประจำ อาจทำให้ภาวะติดการใช้ได้ เนื่องจากเมื่อหยุดใช้บางรายมีอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หงุดหงิด เป็นต้น แต่เมื่อกลับมาใช้ใหม่จะรู้สึกสบายและอาการดังกล่าวหายไป ทำให้รู้สึกไม่สามารถหยุดใช้ได้
หากนำมาทำเป็น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีกฎหมายควบคุม เช่น ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฯลฯ จำเป็นต้องขออนุญาตกับอย. เพื่อความปลอดภัยและเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ที่ชัดเจน
กรณีนำมาใช้ภายในครัวเรือน ชุมชน ควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ เช่น หมอพื้นบ้าน หรือบุคลากรทางสาธารณสุข ก่อนรับประทาน เนื่องจากอาจจะเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ้ารับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และอาจเกิดภาวะติดการใช้ได้
ที่มาของข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)